อาการปวดหลัง เป็นอาการที่สามารถเจอได้ทุกวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ แน่นอนว่า ระดับความรุนแรงของแต่ละคนนั้นก็มีไม่เท่ากัน บางคนอาจจะปวดเพียงเล็กน้อย ยืดกล้ามเนื้อ หรือทานยาสักพักก็หาย แต่บางคนก็อาจจะมีอาการปวดมากจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาที่ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายในทันที ดังนั้น เราไปดูกันดีกว่าว่า แล้วอาการปวดหลังแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
อาการปวดหลังเกิดจากอะไร
อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ทั้งการเกิดอุบัติเหตุ โรคร้าย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน เช่น
- โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
- โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือหมอนกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
- โรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม
- เนื้องอก หรือการติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลัง และอวัยวะข้างเคียง
- ภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป
- ออฟฟิศซินโดรม การนั่งทำงานนาน ๆ
- อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา
- การยกของหนัก หรือก้มยกของผิดวิธี
อาการปวดหลังแบบไหนต้องไปหาหมอ
แม้ว่าอาการปวดหลังจะเป็นอาการที่เรามักจะประสบพบเจอกันอยู่บ่อย ๆ แต่ก็มีอาการปวดหลังที่บ่งบอกว่าเสี่ยงอันตรายและจำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์ ดังนี้
- มีอาการปวดเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน
- อาการปวดหลังรุนแรง ทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
- อาการปวดหลังที่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่ได้ ต้องตื่นกลางดึก เป็นต้น
- มีอาการขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
- ปวดหลังจนร้าวลงมาที่ขา สะโพก น่อง
- ปวดหลังร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ ไอเหนื่อย เป็นต้น
วิธีบรรเทาอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งอาการปวดหลังเหล่านี้สามารถบรรเทาให้ทุเลาลงได้ โดยมีวิธีดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน มักจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีอาการปวดหลัง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังให้เบาลงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ , ปรับระดับโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระร่างกาย, หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน เป็นต้น
2. ประคบร้อน ประคบเย็น
เมื่อเริ่มมีอาการปวดหลังในช่วง 48 ชั่วโมงแรก แนะนำให้ประคบเย็นเพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ จากนั้นให้เปลี่ยนไปประคบร้อน เพื่อให้หลอดเลือดขยาย การไหลเวียนเลือดดีขึ้น และบรรเทาอาการปวดของกล้ามเนื้อ โดยให้ประคบน้ำแข็งบริเวณที่ปวดไว้ 20 นาที จากนั้นประคบร้อนอีกประมาณ 15-20 นาทีทำต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังให้เบาลงได้
3. ออกกำลังกายเสริมความแข็งแรง
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังมาจากกล้ามเนื้อหลังที่ตึง ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหลัง และป้องกันอาการกล้ามเนื้ออักเสบจากการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน
4. รักษาด้วยวิธีทางการแพทย์
สำหรับคนที่มีอาการปวดไม่รุนแรงมากนัก แพทย์อาจจะรักษาด้วยการให้ยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการ แต่สำหรับคนที่มีอาการปวดหลังรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะรักษาโดยการฉีดยาเข้าเส้นประสาทสันหลัง หรือการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งจะต้องใช้เวลาพักฟื้นอย่างน้อย 1-3 วัน แน่นอนว่า การรักษาด้วยวิธีฉีดยา หรือผ่าตัดจำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็มีวิธีรักษาอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม นั่นก็คือ การครอบแก้ว หนึ่งในการรักษาแบบศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เป็นวิธีการรักษาที่มีมาตั้งแต่โบราณ โดยจะเป็นการนำถ้วยแก้วสำหรับครอบแก้วโดยเฉพาะมาผ่านความร้อน แล้ววางครอบบริเวณต่าง ๆ บนร่างกายเพื่อให้แก้วดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณนั้นขึ้นมา ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยบำบัดรักษาโรคได้หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้น และไม่ต้องเจ็บตัวเลยแม้แต่น้อย
สรุปบทความ
อาการปวดหลัง เป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ดังนั้น การสำรวจตัวเองและปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดเหล่านั้นให้เบาลงได้ แต่สำหรับคนที่มีอาการปวดหลังรุนแรงจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ก็แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์ในทันที เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคร้ายที่คุณไม่เคยรู้ได้